why freelance


Why Freelance





ฟรีแลนซ์ (freelance) หรือ ฟรีแลนซ์เซอร์ (freelancer) คือ ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างอิสระ ที่ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงาน หรือองค์กร หรือบริษัทใดๆ พนักงานฟรีแลนซ์จะต้องจัดตารางเวลาการทำงานของตนเอง การรับเงินจากนายจ้าง ก็จะเป็นลักษณะใดก็แล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความพึงพอใจของทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง
ในปัจจุบัน พนักงานบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ที่เป็นผู้รักอิสระ หันมารับจ้างเป็นฟรีแลนซ์มากกว่า 20%เนื่องจากความชอบส่วนตัวในการใช้ชีวิต หรือลักษณะการทำงาน
งานนอก งานราษฎร์ หรือ งานฝิ่น เป็นคำศัพท์ฮิต ที่ใช้เรียกลักษณะงานที่รับมาทำเพิ่ม สำหรับผู้ที่มีความผูกมัดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่นั้นแบ่งเวลาทำงานลักษณะนี้ได้ไม่ค่อยดีนัก อาจก่อให้เกิดการเสียสุขภาพขึ้นได้ เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเครียดกับงานมากมายหลายชนิดจนเกินไป
ข้อเสียของฟรีแลนซ์คืองานที่ไม่แน่นอนและไม่มั่นคงรวมถึงรายได้ที่ไม่แน่นอนตามมา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการขาดผลประโยชน์ที่ได้จากการทำงานบริษัทหรืองหน่วยงานเช่น สวัสดิการ หรือ บำนาญ ด้วย
........นิยามจากวิกิพีเดีย

ทำไมต้อง “Freelance”
ปัจจุบันท่านอาจได้ยินคำว่า freelance นี้ บ่อยๆ แต่แท้จริงแล้วมันคืออะไร? และ freelance ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร? ต่างกับคนทำงาน part-time อย่างไร? เป็นอาชีพของคนไม่มีงานประจำรึเปล่า? งานเสริมที่ประกาศกันให้เกลื่อนในอินเตอร์เน็ตและใบปลิวจัดเป็นงาน freelance รึเปล่า? คำถามมากมายเกิดขึ้นเมื่อพูดถึงคำว่า freelance

เมื่อเรามองดูงานบางอย่างที่บริษัท, หน่วยงาน, องค์กร รวมถึงงานส่วนบุคคล เราจะพบว่ามีงานบางอย่างที่ไม่ใช่งานที่ทำเป็นกิจวัตรหรือต้องผูกพันตัวเองอยู่กับที่ แต่ก็เป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะสูง ไม่ใช่งานที่ใครที่ไหนก็ทำได้เหมือนกับที่เราเห็นในใบปลิว โฆษณาเว็บไซต์ หรืออีเมล์ที่ผมถือว่าเป็น “ขยะ” ที่พบในกล่องจดหมาย

ก่อนอื่นเราต้องแยกก่อนว่า Freelance ต่างกับ Part-Time อย่างไร ถ้าเรามองกันดีๆแล้วจะพบว่ามีความต่างอยู่มาก งาน Part-Time มักเป็นงานที่ไม่ใช้ทักษะที่สูง เป็นงานง่ายๆและรูปแบบจำเจ เช่น งานพิมพ์เอกสาร หรืองานกรอกข้อมูล เป็นต้น รวมถึงยังต้องผูกตัวเองกับเวลาที่บริษัทหรือผู้จ้างจัดให้

ส่วนงานที่คุณพบเห็นในอินเตอร์เน็ตหรือในกล่องอีเมล์ของคุณ เช่น 
"คุณ ก นิสิตปริญญาตรีเพิ่งจบใหม่ ทำงาน วันละ 2-3 ชั่วโมง เดือนแรกมีรายได้ 24000"
"คุณ ข เริ่มต้นทำงานเป็น Part time ทางอินเตอร์เน็ท ใช้เวลา 2 ชม.ทำงานต่อวัน มีรายได้ 40,000 บ"
"ลงทุนต่ำ 2,610 บาท รับ 5 แสน/เดือน 7 วันรับแล้ว 8 พัน โดยไม่ได้ทำอะไร"

ผมเชื่อว่าผู้อ่านของผมมีวิจารณญาณพอที่จะรู้ว่า โฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ “แหกตา” พวกเรา ถ้าทำได้อย่างนี้โดยไม่ต้องมีการกำหนดวุฒิการศึกษาหรือความสามารถพิเศษอื่นใด ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรอบรมต่างๆคงจะแทบไม่มีคนไปเรียนแล้วล่ะครับ

ที่นี้การทำงานแบบ freelance เป็นงานของคนไม่มีงานประจำหรือเปล่า ผมตอบได้เลยว่า “ไม่” คนที่ทำงานประจำจำนวนนึงที่มีทักษะสูงพอและมีความขยันที่จะหางานที่จะพัฒนาทักษะและใช้ความสามารถที่พวกเขามีอยู่ให้เกิดรายได้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มักจะหางาน freelance ทำควบคู่ไปด้วย จนบางคนรับงาน freelance จนมีรายได้มากกว่าเงินเดือนจากงานประจำของพวกเขาเสียด้วยซ้ำ

คำจำกัดความของผู้ทำงาน freelance หรือ freelancer นั้นคือ บุคคลที่เลือกที่จะเป็นเจ้านายตัวเองและก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพโดยไม่จำเป็นต้องผูกพันในระยะยาวกับนายจ้าง และมีรูปแบบการรับงานที่หลากหลาย บางคนต้องการให้ลูกค้าเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ ขณะที่บางคนอาจจะใช้การตกลงทางการพูดจา ด้วยธรรมชาติของการทำงาน freelancer จะประเมินรายละเอียดของงานและระบุค่าใช้จ่ายกับลูกค้า ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนของงาน freelancer ก็มีรูปแบบที่หลากหลาย อาจจะรับเป็นวันต่อวัน ต่อชั่วโมง หรือต่องาน แทนที่จะรับค่าตอบแทนแบบคงที่ freelancer บางคนจะรับค่าตอบแทนโดยประเมินจากสิ่งที่ลูกค้าได้รับจากงาน โดยอาจแบ่งให้ freelancer เป็นเปอร์เซ็นต์ในแต่ละขั้นตอนการดำเนินงาน


Freelancer ระดับมืออาชีพบางคนสร้างงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาจากความคิดของตัวเอง และหาคนที่จะนำไปเผยแพร่ ซึ่งพวกเขาจะสงวนลิขสิทธิ์ในตัวงานและขายสิทธิ์การใช้งานในระยะเวลาตามสัญญาที่ตกลงกัน ในทางตรงกันข้ามกับ freelancer ที่สร้างสรรค์งานจากความต้องการของลูกค้า พวกหลังจะไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา 

ข้อดีของการทำงานแบบ freelance ที่เห็นได้ชัดคือ freelancer จะสนุกและท้าทายกับการทำงานที่หลากหลายตามการมอบหมายมากกว่าที่จะเป็นการจ้างประจำ และมีอิสระในการเลือกเวลาทำงาน นอกจากนี้ประสบการณ์จากการทำงานยังนำไปสู่รูปแบบของแฟ้มประวัติงาน (Portfolio) ที่หลายหลายและสามารถสร้างเครือข่ายของลูกค้าที่ใช้บริการได้ด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงานประจำแล้วจะพบว่าต่างมีข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของความมั่นคงและสวัสดิการที่ได้จากงานประจำ “แต่” คุณแน่ใจหรือว่างานประจำของคุณ “มั่นคงเพียงพอ” ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และงานประจำตอบสนองต่อความต้องการที่คุณอยากได้จากการทำงานของคุณได้ทั้งหมดจริงๆ

...................... บทความโดยคุณ ศุภรัตน์ วิรัตนพรกุล




ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม