เป้าหมายและเจตนา

 

 

การกำหนด “เป้าหมาย” เทียบกับ การกำหนด “เจตนา”


+FB: พันโทอานันท์ ชินบุตร ชีวิตเปี่ยมพลัง

ผมเคยมานั่งคิดอยู่สักพักหนึ่งนานมาแล้วว่า คำว่า “เป้าหมาย” นั้น น่าจะมาจากคำว่าอะไรในภาษาอังกฤษ แน่นอนว่า มีอยู่สองคำคือ Target และ Goal

คำแรก คำว่า ทาร์เก็ต คือ เป้าเล็ง เมื่อเรานึกถึงมัน ส่วนใหญ่จะนึกถึง เป้ายิงธนูของโรบินฮู้ด มันบ่งบอกให้รู้ว่า เราจะต้องมองให้แน่วแน่ไปที่จุดศูนย์กลาง แล้วใช้ทักษะในการง้างธนูของเรา ปล่อยสายรั้งของธนูให้มันพุ่งตรงดิ่งไปสู่จุดศูนย์กลางนั้นให้ได้ ถ้าจะคิดให้เป็นสมัยใหม่หน่อยก็เป็นการเล็งปืน อะไรทำนองนั้น

อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดความสำเร็จ ถ้าพูดถึง ทาร์เก็ต เราก็จะคิดแต่เพียงเป้าที่เราเล็งไม่ได้นึกถึงระยะเวลาที่จะต้องทำให้สำเร็จ ดังนั้นแล้ว คำว่า เป้าหมาย ที่ฝรั่งนำมาสอนคนไทยก็คือคำว่า โกล (goal) แล้วก็ต้องกำหนดมันแบบ SMART อีกด้วย (ผมจะยังไม่พูดรายละเอียดตอนนี้ว่ามันคืออะไร) ซึ่งตั้ง T ก็คือ การกำหนดเวลาให้แม่นยำเลยทีเดียวว่าจะเป็นวันไหน บางคนอาจจะอยากให้เจาะจงจนถึงขั้น ทศนิยม ของวินาทีเลยก็ได้

ในการกำหนดความสำเร็จของมนุษย์ อาจจะต่างจากการกำหนดความสำเร็จของการนำยานอวกาศลงบนดาวดวงอื่นๆ ที่ต้องกำหนดกันเป็นเศษทศนิยมของวินาที เพราะมันคงทำไม่ได้อย่างนั้น แต่ลองย้อนกลับมาคิดกันดูว่า แท้จริงแล้ว คำว่า “โกล” นี้เดิมทีมาจากที่ไหน ถ้าไม่ผิดก็ต้องบอกว่ามาจากกีฬา “ฟุตบอล” เป็นหลักใหญ่เลยทีเดียว

แล้วเราลองนึกดูซิว่า โค้ชฟุตบอลเคยสั่งนักฟุตบอลไหมว่า “พวกนายต้องยิงลูกให้ได้ 3 ลูก ในเวลา 10 นาที” ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว นักฟุตบอลคงจะลาออกกันหมด เพราะมันเครียดจัด โอกาสที่จะทำได้คงจะยากยิ่ง

ที่จริงโค้ช ฝึกให้นักฟุตบอลในลักษณะที่ว่า “ยิงวินาทีไหน ก็ยิงให้ได้ แล้วยิงให้มากที่สุด ก่อนหมดเวลา ถ้ายังไม่หมดเวลา อย่าหยุดยิง” (ยกเว้นนำมากแล้ว หรือแกล้งเสมอ หรือแกล้งแพ้) อะไรทำนองนี้

ถ้าโค้ชไม่เคยสั่งให้ยิงให้ได้กี่ลูกในเวลากี่นาทีแล้ว เหตุใดมนุษย์คนอื่นๆจึงนำมันมาสอนกันในแบบที่ต้องกำหนดเวลาด้วยล่ะ และจริงๆแล้ว มันจะได้ผลดีสักเพียงใด

แน่นอน ในการก่อสร้าง ต้องมีโปรเจค แล้วมีกำหนดเวลาของงานต่างๆตามเทคโนโลยีของมัน ถ้าการสร้างรถไฟฟ้าสมัยนี้ กำหนดเวลาเสร็จตามแบบวิธีการเก่าๆ มันคงจะเกินความจำเป็นมาก เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ต้องรอเวลา หล่อปูน ณ จุดที่สร้าง เดี๋ยวนี้ ยกมาทั้งแท่งประกอบกันได้เลย เป็นต้น อย่างนี้ การกำหนดระยะเวลาเสร็จของมัน ก็จะต้องเปลี่ยนไปตามความเจริญของวิศวกรรมการก่อสร้าง วิศวกรโบราณถ้าไม่เรียนรู้ของใหม่ ก็จะทำโปรเจ็คได้อย่างยับย่อยทีเดียว

ทว่าในเรื่องอื่นๆเล่า สมมติว่า โทมัส อัลวา เอดิสัน คิดประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า แล้วเขาบอกว่า ภายใน 3 เดือน ฉันจะต้องผลิตมันให้ได้ ไม่อย่างนั้น “ฉันล้มเหลว” กับโปรเจ็คนี้ คุณคิดว่า เอดิสัน เขาคิดอย่างนั้นหรือเปล่า

ที่จริง เขากำหนดเจตนาว่า จะทำมันให้ได้ ไม่ว่าจะยากง่าย หรือยาวนานเพียงใดก็ตาม จากนั้นเขาก็เดินหน้าหาข้อมูล ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ได้ไม่เลิก แล้วการทดลองกว่าหนึ่งหมื่นครั้งก็ผ่านไป ในที่สุดพวกเราก็ได้ดวงไฟมาใช้กัน

ถ้าเอดิสัน กำหนดเป้าหมายแบบที่สอนๆกันทุกวันนี้ คุณคิดว่า พวกเราจะได้ดวงไฟใช้กันหรือเปล่าล่ะ ผมคิดว่า เขาทำการทดลอง 3 ครั้ง ก็คงจะเลิกแล้ว และบอกว่า โปรเจ็คนี้ “เป็นไปไม่ได้” และ “มันเกินกำหนดเวลาของเป้าหมายแล้ว”

โมเดลที่สำคัญของการกำหนดสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในชีวิต คือ การกำหนดเจตนา (Intention) และ การอุบัติขึ้นหรือการเกิดเป็นรูปธรรม (Manifestation)

สมมติว่าคุณจะทำโครงการอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วคุณกำหนดปังเลยว่าจะให้เสร็จเมื่อไหร่ นอกจากคุณจะใช้เทคโนโลยีเดิมมากำหนดแล้ว (คือประสบการณ์เดิมๆของคุณ) คุณจะยัง “บล็อคความคิด” ของตัวเองด้วยประสบการณ์เดิมด้วย บางที มีคนให้คุณทำโปรเจ็คไปดวงจันทร์ คุณอาจคำนวณดูแล้ว มันอาจใช้เวลา 25 ปี ตามวิถีเดิมๆ แต่ใครจะรู้ว่า ถ้าคุณกำหนดเจตนา บางทีพรุ่งนี้ คุณอาจบังเอิญไปพบพระรูปหนึ่ง เสกคุณขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ ในวินาทีนั้นเลยก็ได้!

ความหมายของผมก็คือ ให้คุณลองคิดว่า เมื่อไหร่จะกำหนดเป้าหมาย และเมื่อไหร่จะกำหนดเจตนา และโมเดลใด ดีและเหมาะสำหรับคุณ ในเวลาหรือสถานการณ์หนึ่งๆ บางทีการกำหนดเป้าหมาย จะทำให้คุณล้มเหลว แต่การกำหนดเจตนา จะทำให้คุณสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมหาศาลเลยทีเดียว

ที่มา>>>+FB: พันโทอานันท์ ชินบุตร ชีวิตเปี่ยมพลัง
Fanpage: Powerful Life
www.anantpowerful.com





บทความที่ได้รับความนิยม